วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

ฤาษีสอนสุดสาคร

เมื่อวานนี้นึกถึงบทกลอนจากเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ ตอนที่สุดสาครถูกชีเปลือยหลอก ผลักตกหน้าผา แล้วพาเอาม้ามังกรและไม้กายสิทธิ์หนีไป ฤาษีได้มาปรากฏตัวต่อสุดสาครและกล่าวสอนสุดสาครว่า
"แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์          มันแสนสุดลึกล้ำเหนือกำหนด
 ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด       ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
 มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน             บิดามารดารักมักเป็นผล
 ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน             เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจาฯ"
เลยได้นึกไปว่า เราจะเอากลอนบทนี้มาสอนตนอย่างไร

ในบทแรก "แล้วสอนว่า...  ...ในน้ำใจคน" อาจสามารถใช้เตือนตนได้ว่า จิตมนุษย์นั้น คดเคี้ยวเลี้ยวลดเหลือคณา  ปักใจเชื่อหรือไว้ใจกันง่าย ๆ ไม่ได้  ซึ่งรวมถึงจิตของเจ้าของหรือจิตของตนด้วย  วันนี้คิดดี ขยันปฏิบัติ ทำความสงบได้ง่าย ดูจิตทะลุปรุโปร่ง พรุ่งนี้อาจกลายเป็นตรงกันข้าม กิเลสเข้ามายั่วเย้า กลายเป็นทาสของอารมณ์ไป จิตพลุ่งพล่าน ไม่มีความสงบ ขาดความรู้เท่าทันอาการของจิต  จิตของเรามันไม่เที่ยง เมื่อมันยังไม่แน่ ยังไม่มั่นคงลงไป วันนี้มันดีได้ วันหน้ามันก็ไม่ดีได้ อย่าประมาทไป

"มนุษย์นี้ที่รัก...  ...มักเป็นผล" บิดาและมารดาเปรียบเสมือนพระอรหันต์ของลูก ท่านให้ชีวิตแก่เรา ให้โอกาสเราได้เติบใหญ่ ให้โอกาสเราได้เลือกทางเดินของชีวิต ให้เราได้มีโอกาสฝึกฝนและปฏิบัติตามทางอันพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ ให้โอกาสเราฝึกฝนและปฏิบัติจนอาจสามารถพาตนให้พ้นจากวัฏฏะสงสารได้  การตอบแทนบุญคุณ กตัญญูต่อท่าน เป็นสิ่งอันประเสริฐ

"ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน"  กายตนพึ่งได้อย่างไร การพิจารณากายเป็นส่วนหนึ่งของสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เริ่มจากรู้ว่ากายเรามีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร รู้อิริยาบถของกาย พิจารณาว่ากายประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ๓๒ ประการ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เป็นของปฏิกูล ไม่สะอาด พิจารณาให้รู้ว่ากายของเราไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเรา เพื่อละความยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ ช่วยให้เราอยู่กับโลกโดยหลงโลกน้อยลง

นอกจากนี้ หลายคนคงจะเคยฝึกสมาธิแบบอานาปาณสติ ซึ่งหากปฏิบัติดีแล้วเป็นการปฏิบัติตามทางแห่งสติปัฏฐาน เริ่มจากการตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น ดูลม หายใจออกรู้ หายใจเข้ารู้ หายใจออกสั้นรู้ เข้าสั้นรู้ หายใจออกยาวรู้ เข้ายาวรู้ กำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก กำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า ทำกายสังขารให้ระงับอยู่หายใจออก ทำกายสังขารให้ระงับอยู่หายใจเข้า เป็นต้น คือเริ่มด้วยการพิจารณากายในกาย ซึ่งหากปฏิบัติได้ตลอดจนถึงที่สุดคือ พิจารณาความสละคืนกิเลสหายใจออก พิจารณาความสละคืนกิเลสหายใจเข้า คือการพิจารณาธรรมในธรรม ย่อมมีอานิสงค์มาก

"เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา" เป็นการเน้นย้ำให้มีสติ รู้ต้วในการเจรจาสิ่งใดออกไป พิจารณาความเหมาะสมทั้งบุคคล เวลา สถานที่ สถานการณ์ และคำพูด ก่อนที่จะพูดออกไป

หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์บ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกันนะคะ

11 ความคิดเห็น:

  1. อ่านและทำความเข้าใจ จะเป็นสิ่งเตือนสติได้เป็นอย่างดีแท้

    ตอบลบ
  2. โอ้ มีประโยชน์มากมายเลยค่ะเพราะว่ามันสามารถทำให้หนูทำการบ้านได้เลยค่ะ

    ตอบลบ
  3. กลอนนี้มีความโดดเด่นมนเรื่องอะไรหรอคะ

    ตอบลบ
  4. ไม่มีประโยชน์เลย;-;

    ตอบลบ