วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557

ทุกขะปะเรตา เราทั้งหลายเป็นผู้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว

เคยมีครั้งที่เห็นทารกแรกคลอดแล้วสงสารเขาที่ต้องเกิดมา เพราะชีวิตนี้มันทุกข์นะ

แล้วเราก็หลงระเริงไปพักใหญ่ ไม่รู้สึกถึงทุกข์ที่อยู่ตรงหน้า

แล้วก้มีอีกครั้งหนึ่งที่เราคิดถึงกองทุกข์ที่อยู่เบื้องหน้าเราอีกนับชาติไม่ถ้วน คิดแล้วมันทุกข์จริง ๆ

แม้แต่เห็นน้องหมาแรกคลอดในตลาด ก็ให้สลดใจ นึกถึงกองทุกข์อีกนับชาติไม่ถ้วนที่อยู่ตรงหน้าเขา

แล้วเขาจะรู่ไหม

แล้วมันซึ่งกินใจเราจริง ๆ รึ ยัง

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จิต

อาการของจิตเกินจริงเสมอ

จับความรู้สึกคุณตอนนี้ จำไว้ แล้วชะลอใจให้เย็นลง หยุดใจให้นิ่ง ๆ แล้วพิจารณาดูอีกทีว่าความรู้สึกเมื่อตะกี้นี้มันยังอยู๋หรือไม่ รุนแรงเท่าเดิมหรือไม่ สมเหตุสมผลหรือไม่ มีอยู่จริงหรือไม่

ลองทำดูบ่อย ๆ เมื่อนึกขึ้นได้ แล้วจะเห็นว่า มันเกินจริงเสมอ มันหลอกเราเสมอ แล้วเราก็เผลอให้มันหลอกเสมอเช่นกัน อิ ๆ

เมื่อไรหนอจะฉลาดกับเขาสักที ;)


วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิมุตติ

วิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้น ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

พระพุทธองค์กล่าวถึงเหตุแห่งความหลุดพ้นไว้ ๕ ประการ คือ

     ๑. การฟังธรรม
     ๒. การแสดงธรรม
     ๓. การสาธยายธรรม หรือ การสวดมนต์
     ๔. การตรึกตรองใคร่ครวญธรรม
     ๕. การแทงตลอดสมาธินิมิตด้วยปัญญา

เมื่อภิกษุใดหรือบุคคลใดได้ทำดังนี้แล้ว เข้าใจอรรถเข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อเกิดปีติแล้ว กายย่อมสงบ เมื่อกายสงบแล้ว ย่อมเกิดความสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ซึ่งเป็นเหตุแห่งความหลุดพ้นนั่นเอง

(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉกนิบาต วิมุตติสูตร)

วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

ฤาษีสอนสุดสาคร

เมื่อวานนี้นึกถึงบทกลอนจากเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ ตอนที่สุดสาครถูกชีเปลือยหลอก ผลักตกหน้าผา แล้วพาเอาม้ามังกรและไม้กายสิทธิ์หนีไป ฤาษีได้มาปรากฏตัวต่อสุดสาครและกล่าวสอนสุดสาครว่า
"แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์          มันแสนสุดลึกล้ำเหนือกำหนด
 ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด       ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
 มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน             บิดามารดารักมักเป็นผล
 ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน             เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจาฯ"
เลยได้นึกไปว่า เราจะเอากลอนบทนี้มาสอนตนอย่างไร

ในบทแรก "แล้วสอนว่า...  ...ในน้ำใจคน" อาจสามารถใช้เตือนตนได้ว่า จิตมนุษย์นั้น คดเคี้ยวเลี้ยวลดเหลือคณา  ปักใจเชื่อหรือไว้ใจกันง่าย ๆ ไม่ได้  ซึ่งรวมถึงจิตของเจ้าของหรือจิตของตนด้วย  วันนี้คิดดี ขยันปฏิบัติ ทำความสงบได้ง่าย ดูจิตทะลุปรุโปร่ง พรุ่งนี้อาจกลายเป็นตรงกันข้าม กิเลสเข้ามายั่วเย้า กลายเป็นทาสของอารมณ์ไป จิตพลุ่งพล่าน ไม่มีความสงบ ขาดความรู้เท่าทันอาการของจิต  จิตของเรามันไม่เที่ยง เมื่อมันยังไม่แน่ ยังไม่มั่นคงลงไป วันนี้มันดีได้ วันหน้ามันก็ไม่ดีได้ อย่าประมาทไป

"มนุษย์นี้ที่รัก...  ...มักเป็นผล" บิดาและมารดาเปรียบเสมือนพระอรหันต์ของลูก ท่านให้ชีวิตแก่เรา ให้โอกาสเราได้เติบใหญ่ ให้โอกาสเราได้เลือกทางเดินของชีวิต ให้เราได้มีโอกาสฝึกฝนและปฏิบัติตามทางอันพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ ให้โอกาสเราฝึกฝนและปฏิบัติจนอาจสามารถพาตนให้พ้นจากวัฏฏะสงสารได้  การตอบแทนบุญคุณ กตัญญูต่อท่าน เป็นสิ่งอันประเสริฐ

"ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน"  กายตนพึ่งได้อย่างไร การพิจารณากายเป็นส่วนหนึ่งของสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เริ่มจากรู้ว่ากายเรามีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร รู้อิริยาบถของกาย พิจารณาว่ากายประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ๓๒ ประการ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เป็นของปฏิกูล ไม่สะอาด พิจารณาให้รู้ว่ากายของเราไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเรา เพื่อละความยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ ช่วยให้เราอยู่กับโลกโดยหลงโลกน้อยลง

นอกจากนี้ หลายคนคงจะเคยฝึกสมาธิแบบอานาปาณสติ ซึ่งหากปฏิบัติดีแล้วเป็นการปฏิบัติตามทางแห่งสติปัฏฐาน เริ่มจากการตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น ดูลม หายใจออกรู้ หายใจเข้ารู้ หายใจออกสั้นรู้ เข้าสั้นรู้ หายใจออกยาวรู้ เข้ายาวรู้ กำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก กำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า ทำกายสังขารให้ระงับอยู่หายใจออก ทำกายสังขารให้ระงับอยู่หายใจเข้า เป็นต้น คือเริ่มด้วยการพิจารณากายในกาย ซึ่งหากปฏิบัติได้ตลอดจนถึงที่สุดคือ พิจารณาความสละคืนกิเลสหายใจออก พิจารณาความสละคืนกิเลสหายใจเข้า คือการพิจารณาธรรมในธรรม ย่อมมีอานิสงค์มาก

"เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา" เป็นการเน้นย้ำให้มีสติ รู้ต้วในการเจรจาสิ่งใดออกไป พิจารณาความเหมาะสมทั้งบุคคล เวลา สถานที่ สถานการณ์ และคำพูด ก่อนที่จะพูดออกไป

หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์บ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกันนะคะ

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

เต่าตาบอด

พระรูปหนึ่งซึ่งสมัยเด็กเคยเป็นเพื่อนนักเรียนห้องเดียวกัน คัดพุทธวัจนะมาเผยแผ่และเตือนสติกัน จึงเห็นว่าน่าสนใจนัก อยากให้ได้อ่านกัน


โอกาสแห่งโยคกรรมในการเห็นอริยสัจ บัดนี้ถึงพร้อมแล้ว

ภิกษุ ท. ! ถ้าสมมติว่า มหาปฐพีอันใหญ่หลวงนี้ มีน้ำท่วมถึงเป็นอันเดียวกันทั้งหมด ; บุรุษคนหนึ่ง ทิ้งแอก (ไม่ไผ่?) ซึ่งมีรูปรูเจาะได้เพียงรูเดียวลงไปในน้ำนั้น ; ลมตะวันออกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันตก, ลมตะวันตกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันออก, ลมทิศเหนือพัดให้ลอยไปทางทิศใต้, ลมทิศใต้พัดให้ลอยไปทางทิศเหนือ, อยู่ดังนี้. ในน้ำนั้นมีเต่าตัวหนึ่ง ตาบอดล่วงไปร้อยๆ ปี มันจะผุดขึ้นมาครั้งหนึ่งๆ. ภิกษุ ท. ! เธอ ท. จะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : จะเป็นไปได้ไหม ที่เต่าตาบอด ร้อยปีจึงจะผุดขึ้นสักครั้งหนึ่ง จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น ?
ข้อนี้ ยากที่จะเป็นไปได้ พระเจ้าข้า ! ที่เต่าตาบอดนั้น ร้อยปีผุดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น.
ภิกษุ ท. ! ยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกัน ที่ใครๆ จะพึงได้ความเป็นมนุษย์ ; ยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกัน ที่ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะจะเกิดขึ้นในโลก ; ยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกัน ที่ธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองไปทั่วโลก. ภิกษุ ท. ! แต่ว่า บัดนี้ ความเป็นมนุษย์ก็ได้แล้ว ; ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะก็บังเกิดขึ้นในโลกแล้ว ; และธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองไปทั่วโลกแล้ว.
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงกระทำโยคกรรมเพื่อให้รู้ ว่านี้ ทุกข์ ; นี้ เหตุให้เกิดทุกข์ ; นี้ ความดับแห่งทุกข์ ; นี้หนทางให้ถึงความดับทุกข์ดังนี้เถิด.

- มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๖๘/๑๗๔๔.

เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ขอให้พึงระลึกไว้ว่าทุกเวลามีค่านัก เร่งความเพียรในการปฏิบัติ หมั่นพิจารณาให้ถึงแก่นใจถึงทุกข์และภัยแห่งสังสารวัฏ พาตนก้าวให้พ้นเถิด

คนเรามีทุกข์อยู่ตรงหน้า แต่ไม่เห็นทุกข์ ดังเส้นผมบังภูเขา คิดแต่ว่ามันเป็นธรรมดาโลก ไม่เห็นภัยใหญ่หลวงแห่งสังสารวัฏ ไม่คิดจะพาตนให้ก้าวล่วงไป น่าสงสารนัก